เครื่องรักษาอาการนอนกรน Auto CPAP

 



อาการนอนกรน (
snoring) คืออะไร?

อาการนอนกรน เกิดในขณะนอนหลับ กล้ามเนื้อคอจะผ่อนคลายและหย่อนตัว ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง อากาศที่เคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง จะทำให้เกิดการสั่นของเนื้อเยื่อคอ เช่น ทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ การสั่นดังกล่าวทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น นอกจากการหย่อนของกล้ามเนื้อคอ ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการแคบลงหรืออุดตันของทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลโต ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่มาก ผู้ป่วยมีลิ้นโต การมีเนื้องอกหรือถุงน้ำของระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการนอนกรนจึงเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ 

 



ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (
obstructive sleep apnea : OSA) คืออะไร?

ในขณะหลับ นอกจากเกิดอาการกรนแล้ว ยังพบว่า อาจมีการหยุดหายใจร่วมด้วย เมื่อเนื้อเยื่อคอหรือลิ้นหย่อนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ร่างกายจะพยายามหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อให้อากาศผ่านเข้าทางเดินหายใจที่ตีบลง ยิ่งทำให้ทางเดินหายใจแคบขึ้นจนกระทั่งปิดสนิท คล้ายกับการดูดชิ้นของอาหารด้วยหลอด ชิ้นของอาหารจะติดที่ปลายหลอด ทำให้ไม่สามารถผ่านไปได้ อาหารในที่นี้เปรียบเสมือนอากาศนั่นเอง เมื่ออากาศไม่สามารถผ่านทางเดินอากาศที่ปิดสนิท ร่างกายจึงไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจน จะทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นในรูปแบบการหายใจแรงหรือไอแรง เพื่อปรับตำแหน่งของลิ้นใหม่ ในวงรอบของการนอน อาจมีการกรนและภาวะหยุดหายใจหลายครั้ง เป็นผลทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่เพียงพอและสมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่



 

อาการนอนกรน  มี 2 ประเภท คือ กรนธรรมดา และ กรนอันตราย

1. กรนธรรมดา (primary snoring)

ไม่อันตราย เพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองมากแต่จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างโดยเฉพาะกับคู่นอนทำให้นอนหลับยากเนื่องจากเสียงดัง

2. ภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย (upper airway resistance  syndrome)

3. กรนอันตราย (obstructive sleep apnea)

ในข้อ 2 และ 3 มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว  ถ้าผู้ป่วยไม่รักษา อาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) , โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด (coronary artery disease) , ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) , โรคความดันโลหิตในปอดสูง  (pulmonary hypertension) , โรคหลอดเลือดในสมอง (cerebrovascular disease) , ผู้ป่วยอาจมีอายุสั้น อยู่ได้ไม่นาน  โดยเฉพาะถ้าดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบา [apnea-hypopnea index (AHI)]  ≥  20 ต่อชั่วโมง



 

ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรน
มี 2 ทางเลือกคือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกได้ เพราะการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

การรักษาอาการนอนกรน

วิธีไม่ผ่าตัด ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, และการใช้เครื่อง CPAP เวลานอน จะเหมือนการใส่แว่นตาใหม่ๆ คืออาจรู้สึกอึดอัดบ้างในช่วงแรก ต้องใส่ๆ ถอดๆ  เมื่อชิน ก็จะใส่ได้เอง

วิธีผ่าตัด โดยการผ่าตัดไม่ได้ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด  หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจยังเหลืออยู่ หรือ มีโอกาสกลับมาใหม่ได้



 

(CPAP) Continuous Positive Airway Pressure

เครื่อง CPAP นั้นตามรายงานการวิจัยทั่วโลก จัดว่าเป็นการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับระดับปานกลางหรือรุนแรง ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและปรับความดันที่เหมาะสมกับท่านที่สุดโดยแพทย์เฉพาะทาง และท่านได้ใช้เครื่องตลอดทั้งคืน จะข้อดีมีทั้งในระยะสั้น คือ ท่านจะไม่มีอาการนอนกรนและจะนอนหลับได้ดีขึ้นพร้อมกับได้รับอากาศอย่างเต็มที่ ตื่นขึ้นมาจะสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย หรือ ความง่วงนอนตอนกลางวันอย่างที่ท่านรู้สึกความแตกต่างได้ รวมถึงในระยะยาวจะลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนหรืออาการอื่นๆที่เกิดจากภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วย  โดยหากท่านติดตามดูแลกับแพทย์อย่างใกล้ชิด จะมีความเสี่ยงในการรักษาน้อย

 

  

 



 




ที่มา

เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินทายใจ(Positive Airway Pressure, PAP) Therapy (ตอนที่ 1) , รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=669)

การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิด Noninvasive Positive Pressure Ventilation(NIPPV) ชนิด BiPaP ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล (กรณีศึกษา) , คณิต เต็มไตรรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (http://www.errama.com/system/spaw2/uploads/files/BiPaP%20in%20ER.pdf)

ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรน, รศ.นพ. ปารยะ  อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทย Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=530)

อาการนอนกรน (snoring) คืออะไร? , Bangkok Hospital: 2 Soi Soonvijai 7, New Petchburi Rd., Huaykwang, Bangkok 10310 Thailand (https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/snoring)